วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

โรงงานโลตัส คริสตัล อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง



‘โลตัส คริสตัล’แก้วหรูแฮนด์เมด หนึ่งเดียวในไทย


เครื่องแก้ว "คริสตัล" ในความรู้สึกคนไทย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ใครจะเชื่อว่า ความจริงฝีมือคนไทยสามารถผลิตคริสตัลคุณภาพเยี่ยมเทียบชั้นแบรนด์ดังได้ในระดับไม่เป็นรอง คุณสมบัติที่เล่ามานั้น หมายถึงบริษัท โลตัส คริสตัล จำกัด ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตคริสตัล แฮนด์เมดรายแรก และรายเดียวของไทย ภายใต้แบรนด์ "โลตัส คริสตัล"
      
       จุดกำเนิดของ "คริสตัล" ฝีมือคนไทยนั้น "กฤษณ์ ปทุมราช" กรรมการผู้จัดการ บริษัท โลตัส คริสตัล จำกัด ระบุว่า เกิดจากการรวมตัวของ 12 หุ้นส่วนทั้งในและต่างประเทศที่เห็นตรงกันว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าคริสตัลมูลค่ามหาศาล แต่ในแง่ฝีมือแล้ว คนไทยสามารถจะทำได้ดีไม่แพ้ต่างชาติ จึงอยากจะนำเสนอคริสตัลฝีมือคนไทยให้ขายได้ในระดับสากล โดยตั้งโรงงานขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 อยู่ที่ ต.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ด้วยทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 70 ล้านบาท 
      
       แม้ว่าก่อนออกตลาดจะทำวิจัยและวางแผนตลาดล่วงหน้า แต่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ พบอุปสรรคหลายประการ ตั้งแต่คุณภาพ และชื่อเสียงยังไม่เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ ส่วนตลาดในประเทศไม่สามารถส่งเข้าขายในห้างสรรพสินค้าได้ เพราะติดปัญหาแบกภาระภาษีสรรพสามิตไม่ไหว ยิ่งประกอบกับเวลานั้นเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ทำให้ธุรกิจทรุดหนักลงไปอีก จากเป้าที่วางไว้จะส่งออกได้ 70% คืนทุนได้ภายใน 4 - 5 ปี กลายเป็นแผนผิดพลาดไปหมด ผลประกอบการในปีแรก จอดที่ 7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินทุนลงไป ต้องบอกว่าขาดทุนสาหัส ถึงขั้นบริษัทฯต้องเป็นหนี้NPL กับธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง มีหนี้ค้างกว่า 41.5 ล้านบาท

 กฤษณ์ ระบุว่า การแก้วิกฤตในเวลานั้น เปลี่ยนแผนการตลาดใหม่ มาเน้นขายตรง มุ่งไปสู่ตลาดหน่วยงานหรือสถานประกอบการที่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์คริสตัล เช่น กระทรวงต่างประเทศ สถานทูตต่างๆ ร้านอาหาร และโรงแรม เป็นต้น
      
       ในส่วนการเงินได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) รับ Refinance พร้อมกับอนุมัติสินเชื่อ มูลค่า 29 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้ ช่วยพยุงกิจการให้มีทุนหมุนเวียน กระทั่ง ได้บริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศอังกฤษเข้ามาต่อลมหายใจสั่งซื้อสินค้าล็อตใหญ่ และกลายมาเป็นลูกค้ารายหลักขาประจำต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ช่วยให้กิจการฟื้นกลับมา และดีขึ้นตามลำดับ จนเริ่มทำกำไรในช่วงสองปีหลังที่ผ่านมา โดยผลประกอบการปี 2549 อยู่ที่ 90 ล้านบาท
                                        

       ปัจจุบัน บริษัท โลตัส คริสตัล จำกัด มีสัดส่วนตลาดส่งออก 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ เช่น อังกฤษ เบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตแบบ OEM ให้แก่แบรนด์ดังๆ ระดับโลก เช่น ดาร์ดิงตัน สวาลอฟสกี้ และมิกาซา เป็นต้น
       
       สำหรับสินค้าหลัก ได้แก่ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (Tableware) จุดเด่นเป็นงานแฮนด์เมดที่มีรูปทรงหลักไม่ผิดเพี้ยน มีความใส และแวววาว ไม่มีฟองอากาศ สีสม่ำเสมอจากวัสดุทรายที่นำเข้าจากประเทศเบลเยี่ยม รวมถึง ค่าแรงของไทยยังถูกกว่าแรงงานในฝั่งยุโรปมาก ทำให้สินค้าราคาต่ำกว่าคู่แข่งจากประเทศยุโรปตะวันออกที่ทำงานประเภทเดียวกันนี้ ประมาณ 20-30%



       
 แม้ตลาดหลักยังต้องพึ่งทำส่งแบบ OEM แต่ในช่วง 2 - 3 ปีหลังที่ผ่านมา ได้เริ่มนำเสนอแบรนด์ของตัวเอง ในชื่อ"โลตัส คริสตัล" (LOTUS CRYSTAL) แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนส่งออกไปต่างประเทศไม่สูงนัก อยู่ประมาณ 10% ของยอดส่งออกทั้งหมดของบริษัทฯ แต่ถือว่าเป็นปูรากฐานของธุรกิจในอนาคต

         ส่วนการสร้างแบรนด์ "โลตัส คริสตัล" ในประเทศ ได้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงงานเปิดเป็น OUTLET เพื่อเป็นช่องทางขายแก่ลูกค้าภายใน อีกทั้ง จัดให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การทำคริสตัล และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดระยองที่จะมีกรุ๊ปทัวร์ต่างๆ มาแวะลงดูขั้นตอนการทำงานตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงเสร็จสมบูรณ์ แล้วหาซื้อสินค้ากลับไปเป็นที่ระลึก สร้างรายได้เข้าบริษัทฯ ปีละกว่า 10 - 20 ล้านบาท
       
      อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญท้าทายธุรกิจอยู่ในเวลานี้ คือ ค่าเงินบาทที่แข็งตัว ทำให้รายได้ลดลงไป การปรับตัวของเอสเอ็มอีรายนี้ พยายามขยายประเภทสินค้าในหมวด Giftware เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และสามารถใช้วัตถุดิบคุ้มค่า รวมถึง ออกสินค้าใหม่ที่ยังไม่มีคู่แข่งในตลาด
       นอกจากนั้น ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทไทยรายอื่นที่มีสินค้าเกี่ยวเนื่องกัน เพื่อช่วยกันพัฒนาสินค้า และทำตลาดร่วมกัน
    

       "การจับมือกับบริษัทพันธมิตร เพื่อจะทำตลาดร่วมกัน เพราะสินค้าของพวกเราเกี่ยวเนื่องเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้บนโต๊ะอาหาร แทนที่จะต่างคนต่างออก เรามาจองบูทด้วยกัน ช่วยให้ประหยัดต้นทุนไปได้ และปีที่ผ่านมา ได้ออกแบบสินค้าชุดต่อเนื่องกัน สามารถนำมาประกอบกันบนโต๊ะอาหารกลายเป็นชุดใหญ่ ซึ่งแนวทางนี้ มันคือการปรับตัวพัฒนาสินค้าไปด้วยกัน ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างทำ ดังนั้น การรวมคลัสเตอร์ ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน แต่อาจเป็นสินค้าที่ร่วมกันได้ หรือผู้ซื้อนำไปใช้เป็นเซตได้" กฤษณ์ กล่าวทิ้งท้าย


ตั้งอยู่ที่ อ.ปลวกแดง ห่างจากตัวเมืองระยองประมาณ 30 กม. เป็นโรงงานผลิตเครื่องแก้วคริสตัลแห่งแรกของจังหวัดระยอง เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมวิธีการผลิตในขั้นตอนต่างๆ ตลอดจนเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพในราคาพิเศษได้ทุกวัน ยกเว้น วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3889 7029-31
แผนที่ จากMountainbach Resort ไป โลตัส คริสตัล ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น